วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ความหมายของสิ่งแวดล้อม
สิ่งต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบๆ มนุษย์มีทั้งที่ดีและไม่ดีมีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ
เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์กระทำขึ้น ทั้งที่มองเห็นได้และเห็นไม่ได้ในรูปของสสารและพลังงาน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ผลรวมของสภาพทางกายภาพ เคมีและชีวะที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องพบเห็นอยู่เสมอ ซึ่งประกอบด้วย ภูมิอากาศ น้ำ แสงสว่าง ดิน พืชพรรณและชนิดของสิ่งมีชีวิตอื่น มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยที่เกื้อกูลเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งมีส่วนเสริมสร้าง หรือทำลายปัจจัยอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันทั้งระบบ
สรุป ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ มีอิทธิพลต่อการดำรงชีพทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประเภทของสิ่งแวดล้อม
1. จำแนกตามลักษณะการเกิด
1.1 เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ แบ่งเป็น
1.1.1 สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต เช่น คน สัตว์น้ำ สัตว์ป่า ต้นไม้
1.1.2 สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ น้ำ ดิน แร่ อากาศ พลังงาน ภูมิประเทศ
1.2 สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แบ่งเป็น
1.2.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ เส้นทางคมนาคม ฯลฯ
1.2.2 สิ่งแวดล้อมที่เป็นมโนภาพ ได้แก่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ภาษา ฯลฯ
2. จำแนกตามลักษณะการมองเห็น
2.1 สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ สัตว์ ดิน น้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ฯลฯ
2.2 สิ่งแวดล้อมทางนามธรรม หรือสังคม เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อความเป็นระเบียบในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่มิใช่วัตถุ ได้แก่ ระบบสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี การเมือง กฎหมาย ฯลฯ
คุณสมบัติบางประการของระบบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
1.โครงสร้างของระบบธรรมชาติ ล้วนเกิดจากการรวมตัวของสสารและพลังงาน
2.ความสลับซับซ้อนของโครงสร้างในระบบธรรมชาติ
3.ระบบธรรมชาติเป็นระบบที่สามารถควบคุมตัวเองได้
คุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งแวดล้อม

1. มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีกลไกควบคุมการเกิด และเกิดขึ้นเฉพาะแห่ง เช่น ต้นไม้ น้ำ ดิน สัตว์ วัฒนธรรม ฯลฯ
2.ไม่อยู่โดดเดี่ยวในธรรมชาติ แต่จะมีสิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ด้วยเสมอ เช่น มนุษย์กับที่อยู่อาศัย ต้นไม้กับดิน สัตว์กับพืช ปลากับน้ำ ฯลฯ
3. ต้องการสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยเสมอ เพื่อความอยู่รอด หรือรักษาสถานภาพตนเอง หากขาดสิ่งแวดล้อมอื่นที่จำเป็นต่อการอยู่รอดอาจสูญสลายไป เช่น ปลาต้องการน้ำ ต้นไม้ต้องการดิน ฯลฯ
4. อยู่กันเป็นกลุ่ม เรียกว่า สรรพสิ่ง หรือ ระบบสภาพแวดล้อม หรือ ระบบนิเวศ ภายในระบบนิเวศนั้นก็จะมีองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่มีหน้าที่การทำงานร่วมกัน เพื่อความอยู่รอด
5. เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เมื่อทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอื่นเสมอ
6. มีลักษณะความทนทานและความเปราะบางต่อการถูกกระทบมากน้อยต่างกัน
7. เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นการชั่วคราว หรือถาวรก็ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
1. กฎความต้องการต่ำสุด (Law of Minimum) ในปี ค.ศ.1840 จัสตัส ฟอน ลีบิก นักพฤกษศาสตร์และสรีระ พบว่าธาตุอาหาร ความชื้น อุณหภูมิ สารอาหาร และธาตุที่จำเป็นอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสัมพันธ์อยู่ด้วย มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชหากได้รับในปริมาณที่พอเหมาะพืชจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าได้รับในปริมาณน้อยเกินขีดจำกัดที่จะอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะตายได้
2. กฎความทนทานของเชลฟอร์ด (Law of Tolerance) เชลฟอร์ดเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้ศึกษาทางนิเวศวิทยาของสัตว์ พบว่า ไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมที่มีน้อยเกินไปเท่านั้นที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามีมากเกินไปก็มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีช่วงของความทนทาน ต่อปัจจัยต่าง ๆ เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ถ้าสูงหรือต่ำกว่าช่วงดังกล่าวจะเป็นอันตราย ไม่สามารถดำรงอยู่ในที่นั้นได้ หรือไม่สามารถเติบโตแพร่พันธุ์ได้
3.หลักการแห่งความสัมพันธ์ที่มีขอบเขตขวางกั้นของปัจจัยสิ่งแวดล้อม
หลักการนี้กล่าวไว้ว่า ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นไม่สามารถแยกปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง โดยไม่กระทบถึงส่วนอื่นของระบบนิเวศได้ ดังนั้นไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียงใด ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้เพราะสิ่งแวดล้อมเกิดจากการประสานงานกันของหลายปัจจัย
4.หลักการของปัจจัยที่เป็นตัวการจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
หลักการนี้กล่าวว่า ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมใดก็ตามที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นจนไม่เป็นปัจจัยจำกัดของสิ่งนั้น ๆ อีกต่อไป แต่จะมีผลกระทบไปถึงปัจจัยอื่นและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกันเป็นลูกโซ่ จนทำให้ระบบนิเวศหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกระบบนิเวศหนึ่งได้ เช่น ป่าผลัดใบ เมื่อมีความชื้นเพียงพอจะกลายเป็นป่าดงดิบได้ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
1. แนวความคิดภาวะแวดล้อมต้องเป็นไป เน้นอิทธิพลสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เหนือมนุษย์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในสมัยแรกเริ่มที่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลก
2. แนวความคิดภาวะแวดล้อมอาจเป็นไป ความเป็นอยู่ของมนุษย์ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ มนุษย์สามารถเลือกใช้หรือแก้ไขแต่งเติมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับความต้องการได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง เป็นต้น
3. แนวความคิดคาดการณ์ล่วงหน้า มนุษย์สามารถนำประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้สึก สิ่งเร้า มาใช้ตีความ เพื่อแก้ปัญหาและปรับตัวให้เข้าให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
4. แนวความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก มนุษย์เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ และในอนาคตมนุษย์จะเป็นผู้ทำลายโลก
5. แนวความคิดสิ่งแวดล้อมทำลายมนุษย์ จากการที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยการรบกวนหรือทำลายสิ่งแวดล้อม อันมีผลต่อสมดุลธรรมชาติ เกิดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลให้ย้อนกลับมากระทบต่อชีวิตของมนุษย์
6. แนวความคิดมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในภาวะที่สมดุล เนื่องจากมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่างมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
1. ลักษณะทางกายภาพของร่างกายมนุษย์ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์มีอิทธิพลต่อส่วนประกอบและลักษณะทางกายภาพของร่างกายมนุษย์หลายประการ ได้แก่
1.1 สีของผิวหนัง
1.2 ขนาดของร่างกาย
1.3 ระบบการหายใจ
2. วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์
3. ลักษณะสุขภาพอนามัย
4. การตั้งถิ่นฐานของประชากร
5. ที่อยู่อาศัย
6. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
7. ชนิดของพืชและสัตว์ประจำถิ่น
8. กิจกรรมทางด้านการเมือง
9. ความแตกต่างในเรื่องลัทธิศาสนา

อิทธิพลของมนุษย์เหนือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1. ลักษณะอิทธิพลของมนุษย์ โดยทั่วไปมนุษย์และสังคมจะอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติ ถูกอิทธิพลของธรรมชาติแผ่รัศมีปกคลุมไปทั่ว มนุษย์ไม่ได้เพียงแต่ต้องการเข้ากับธรรมชาติได้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาเหมาะสมโดยเฉพาะสำหรับมนุษย์บางสังคม ส่วนใหญ่มนุษย์ต้องการเอาชนะธรรมชาติ มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น สร้างเครื่องบินบินไปในอากาศ ชนะป่าเขาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่มนุษย์จะมีอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างเด็ดขาดหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
2. ขั้นตอนของการเอาชนะธรรมชาติ
นักมานุษยวิทยาแบ่งสังคมออกเป็น 5 แบบ ตามลักษณะการหาอาหาร คือ
1. สังคมล่าสัตว์และหาของป่า
2. สังคมสัตว์เลี้ยงแบบเร่ร่อน
3. สังคมเกษตรกรรมพื้นที่กว้าง
4. สังคมเกษตรกรรมพื้นที่น้อย
5. สังคมอุตสาหกรรม
แต่นักสังคมวิทยาบางคนแบ่งสังคมออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะหรือระดับของความเจริญ คือ
1. สังคมประเพณี
2. สังคมระหว่างเปลี่ยนผ่าน
3. สังคมสมัยใหม่
สิ่งที่ช่วยให้มนุษย์เอาชนะธรรมชาติ คือ เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เห็นง่าย คือ เทคโนโลยีทางวัตถุ เช่น มีด ขวาน จอบ เป็นต้น
รูปแบบของการเอาชนะธรรมชาติ การเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์
1. การปรับตัวให้เข้าได้กับธรรมชาติแวดล้อมแล้ว
2. มนุษย์เอาชนะธรรมชาติด้วยการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้ประโยชน์จากดินและที่ดินด้วยการเพาะปลูก สร้างบ้านเรือนหรืออาคาร
3. รวมความว่ามนุษย์มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติหลายรูปแบบจนนับไม่ถ้วน และในอนาคตมนุษย์จะคิดค้นวิธีการเอาชนะธรรมชาติด้วยรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้ปัญญา ความฉลาดของมนุษย์ต่อไป

รูปแบบและระดับการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมีรูปแบบและระดับการปรับตัว 5 ระดับ ได้แก่
1. การปรับตัวในระดับพฤติกรรม (Behavioral level) เป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วทันทีทันใดของมนุษย์ ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น การหลบภัยอันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์
2. การปรับตัวในระดับการรับรู้ทางสรีระ (Functional level) เป็นการปรับตัวโดยร่างกายมนุษย์ปรับสภาพการทำงานของสรีระด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับภาวะแวดล้อม
3. การปรับตัวในระดับพันธุกรรม (Genetic level) เป็นการปรับตัวของมนุษย์ที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานหลายช่วงอายุ เพื่อปรับตนให้เข้ากับภาวะแวดล้อมนั้น ๆ ซึ่งจะมีผลต่อลักษณะรูปร่างส่วนประกอบร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ สีผิว ตลอดจนความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมแต่ละแบบเป็นพิเศษ
4. การปรับตัวในระดับการคิดค้นศิลปวิทยาการและเทคโนโลยี มาปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตน หรือปรับตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นการปรับตัวโดยใช้ความรู้ความสามารถของมนุษย์ที่เรียนรู้กฎเกณฑ์ธรรมชาติ เข้าใจกลไกของธรรมชาติ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตน เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การสร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น (การปรับตัวทางด้านวัฒนธรรม)

5. การย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย (Migration level) มักจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถปรับตัวโดยวิธีการอื่น ๆ อีกแล้ว หรือ ในกรณีที่เห็นว่ามีความสะดวกสบายและปลอดภัยกว่า



วิวัฒนาการ (EVOLUTION )
ความหมาย : กระบวนการซึ่งสิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายมากขึ้น จนเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่เมื่อเวลาผ่านไป
ทฤษฎีวิวัฒนาการเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อนักธรณีวิทยาและนักชีววิทยาเริ่มสงสัยคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องที่ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก
ทฤษฎียุคแรก (ซึ่งในปัจจุบันไม่ยอมรับกันแล้ว) ของ ฌอง บับติสต์ ลามาร์ก เสนอว่า พันธุ์ต่าง ๆ มีการสืบทอดลักษณะที่ได้รับมาภายหลัง (Acquired Characteristics)
ทฤษฎียุคใหม่ได้มาจากแนวคิดเรื่อง การคัดเลือกตามธรรมชาติ เสนอโดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน (และเกือบจะพร้อม ๆ กัน โดยนักสัตววิทยา ชื่อ เอ.อี. วอลเลซ) ใน ค.ศ. 1859

ดาร์วินเสนอว่า สิ่งมีชีวิตมักให้กำเนิดลูกหลานออกมามากกว่าที่จำเป็นในการคงจำนวนประชากรไว้ และในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันในแต่ละตัว
ในการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้อาหารและคู่ผสมพันธุ์ สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมาะสมกับสิ่งแวดลดล้อมมากที่สุด จะมีโอกาสอยู่รอดและถ่ายทอดลักษณะนั้น ๆ สู่ลูกหลานได้มากที่สุด
ลักษณะที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นลักษณะที่เอื้อประโยชน์ ก็จะอยู่รอด
ลักษณะที่ล้มเหลวก็จะถูกคัดออกไป
“นี่คือ การคัดเลือกทางธรรมชาติ”
เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหรือเมื่อมีลักษณะใหม่ ๆ เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว และลักษณะใหม่ ๆ นี้ เป็นที่ต้องการต่อการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลง ในที่สุดก็เกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดใหม่
ใน ค.ศ. 1900 การค้นพบผลงานวิจัยของ เกรเกอร์ เมนเดล นักบวชและนักพฤกษศาสตร์ ชาวออสเตรีย เพิ่มรากฐานทางพันธุศาสตร์ ให้กับการคัดเลือกทางธรรมชาติ และเป็นการรับรองแนวความคิดของดาร์วิน ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

วิวัฒนาการของมนุษย์
มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตบนโลก จากหลักฐานและร่องรอยที่มีการค้นพบได้อธิบายให้ทราบถึงวิวัฒนาการก่อนมาเป็นมนุษย์ปัจจุบันไว้ 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. วิวัฒนาการทางชีววิทยา (Biological evolution) การศึกษาและสรุปความเป็นมาเกี่ยวกับสายพันธุ์ของมนุษย์ ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่ต้องมีการศึกษาและหาบทสรุปต่อไป แต่จากหลักฐานที่มีการค้นพบและศึกษาที่ผ่านมา ได้มีการจัดลำดับของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์ในปัจจุบันตามลำดับดังต่อไปนี้
สายพันธุ์มนุษย์
1. รามาพิเธคัส (Ramapithecus) หรือลิงใหญ่ของพระราม เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายกระบี่หรือลิงใหญ่ไร้หาง (Ape) มีอายุราว 148 ล้านปีมาแล้ว อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย เดินตัวตรงและมีลักษณะร่วมหลายประการกับมนุษย์ปัจจุบัน เช่น ร่างกายตั้งตรง และโครงสร้างขากรรไกรคล้ายมนุษย์ แต่พบหลักฐานน้อยมากจึงไม่สามารถเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์กับมนุษย์ในปัจจุบันได้
2. โพรคอนซูล (Proconsul) เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อราว 20 – 10 ล้านปีมาแล้ว มีลักษณะคล้ายกับลิงชิมแพนซี มีความใกล้ชิดกับคนมาก จนมีนักวิทยาศาสตร์บางรายอ้างว่า เป็นบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดที่เรามีร่วมกับกระบี่ ต่อมาภายหลังสายพันธุ์ของกระบี่และคนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ก็เริ่มแยกตัวออกไป
3. ออสตราโลปิเธคัส (Australopithecus) มีการค้นพบแหล่งฟอสซิลโครงกระดูกในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ. 1974 และที่เก่าแก่ที่สุด เรียกว่า ลูซี มีอายุเมื่อประมาณ 3 ล้านปีมาแล้ว เธอป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบ เสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 40 ปี ออสตราโลปิเธคัสมีลักษณะคล้ายมนุษย์ ใกล้ชิดกับกอริลลาและชิมแปนซี มีความสูงตั้งแต่ 0.9 เมตร ถึง 1.8 เมตร สมองมีขนาดหนึ่งในสามของมนุษย์ปัจจุบัน พบว่ามีลักษณะเดินตัวตรงเช่นเดียวกับมนุษย์
4. โฮโม ฮาบิลิส (Homo habilis) หรือมนุษย์ผู้ผลิตเครื่องมือ ฟอสซิลที่พบครั้งแรกมีความเกี่ยวพันกับเครื่องมือที่ทำด้วยหิน เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์ โดยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 2.3 – 1.4 ล้านปีก่อน อยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออกมีการทำเครื่องมือหินหลายชนิด รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ตัดขูดขีด และค้อนสำหรับทำเครื่องมือใหญ่จากหินเหล็กไฟ จัดอยู่ในประเภทกลุ่มนักล่าและกินซากสัตว์ มีขนาดร่างกายเท่ากับเด็กอายุ 12 ขวบในปัจจุบัน สูง 1.2-1.5 เมตร ขากรรไกนูน สมองมีขนาดครึ่งหนึ่งของมนุษย์ปัจจุบัน เนื่องจากความเหมือนมนุษย์ปัจจุบันจึงจัดเข้าอยู่ในสกุลเดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน คือ โฮโม นั่นเอง
5. โฮโมอีเร็กตัส (Homo erectus) หรือมนุษย์ตัวตรง มีชีวิตอยู่เมื่อราว 1.9 ล้านปี ถึง 3 แสนปีมาแล้ว (แต่ก็มีหลักฐานว่าอาจอยู่ต่อมาจนถึงเมื่อ 27,000 ปีมานี้เอง) สูง 1.5-1.8 เมตร หน้าผากลาด ขากรรไกหุบเข้า สมองมีประมาณร้อยละ 60-80 ของขนาดสมองเฉลี่ยของมนุษย์ปัจจุบัน และเป็นผู้ค้นพบไฟ มีภาษาพูด มีเครื่องมือเฉพาะงาน มีพิธีกรรมง่าย ๆ และวิธีการล่าสัตว์ที่ก้าวหน้า มีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ดังกล่าวกระจายอยู่หลายแห่ง เช่น ที่เกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า มนุษย์ชวา ที่ใกล้เมืองปักกิ่งประเทศจีน เรียกว่า มนุษย์ปักกิ่ง และอาจรวมถึงซากฟอสซิลที่พบที่ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางเมื่อไม่นานมานี้ ที่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นโฮโมอีเร็กตัสด้วย
6. โฮโม นีอันเดอธาเลนซีส (Homo neanderthalensis) พบฟอสซิลชิ้นแรกที่ลุ่มแม่น้ำนีอันเดอร์ ในประเทศเยอรมนี จากรูปร่างลักษณะนับว่าเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน มีอายุเมื่อประมาณแสนปีมาแล้ว เชื่อว่ามนุษย์กลุ่มดังกล่าวอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในยุโรปและเอเชีย มนุษย์กลุ่มนี้นอกจากจะมีลักษณะเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบันแล้วยังพบว่า มีการนับถือศาสนา มีการฝังคนตาย มีการทำเครื่องประดับ และเครื่องมือที่แสดงถึงการมีอารยธรรมด้วย
7. โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) หรือ มนุษย์ผู้มีสติปัญญา ได้แก่ เหล่ามนุษยชาติในปัจจุบัน ได้พบร่องรอยของมนุษย์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์นีอันเดอธาเลนซีส ได้หายไปแล้ว แต่ปรากฏกลุ่มใหญ่ขึ้นมาแทน คือ มนุษย์โครมันยอง (Cro - mangon) โดยพบโครงกระดูกในถ้ำโครมันยองของประเทศฝรั่งเศส ตรวจพบว่ามีอายุเมื่อราว 35,000 ปีมาแล้ว นับว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์ปัจจุบันมากที่สุด

2. วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม (Cultural evolution) จากการที่มนุษย์มีสมองมากทำให้สามารถเรียนรู้ จดจำ ประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยพิจารณาจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มนุษย์ในสมัยนั้น ๆ ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใช้ ดังต่อไปนี้
2.1 ยุคหินเก่า 2.4 ยุคสำริด
2.2 ยุคหินกลาง 2.5 ยุคเหล็ก
2.3 ยุคหินใหม่

2.1 ยุคหินเก่า เป็นยุคที่มนุษย์ได้นำเอาวัสดุที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นเครื่องมือในการหาอาหาร ทั้งการล่าสัตว์และการกะเทาะเปลือกเมล็ดพืช มนุษย์กลุ่มแรกที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้ผลิตเครื่องมือคือ โฮโม ฮาบิลิส ซึ่งมีอายุเริ่มแรกอยู่ระหว่าง 2 - 1.5 ล้านปีมาถึงยุคหินกลาง มนุษย์รุ่นต่อมาก็มีการนำเครื่องมือหินที่ผ่านการกะเทาะแบบง่าย ๆ มาเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงราว 8,000 ปีก่อน ค.ศ. หรือในยุคของมนุษย์โครมันยอง ปัจจุบันมีการค้นพบเครื่องมือหินดังกล่าวกระจายอยู่หลายแห่งของโลก

2.2 ยุคหินกลาง เริ่มเมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากที่ผ่านยุคน้ำแข็งอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น การใช้ชีวิตในวิกฤติยุคน้ำแข็งทำให้มีการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด เครื่องมือง่าย ๆ แบบเดิมถูกนำมาตกแต่งให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานยิ่งขึ้น รูปแบบเครื่องมือจึงแตกต่างไปจากเดิม การใช้ชีวิตก็ยังคงเป็นการเก็บของป่าและล่าสัตว์อยู่ จนกระทั่งสิ้นสุดยุคหินกลางเมื่อราว 6,000 ปี ก่อน ค.ศ. เมื่อมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจนแตกต่างไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะประชากรเพิ่มขึ้นขณะที่อาหารในธรรมชาติลดน้อยลง

2.3 ยุคหินใหม่ เริ่มเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอต่อการแสวงหาและการล่า แต่มนุษย์ก็ได้ค้นพบวิธีการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ โดยนำเอาเมล็ดหรือต้นกล้าของพืชมาเพาะปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาล ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากที่เคยเร่ร่อนเพื่อเก็บของป่าและล่าสัตว์ เป็นการตั้งหลักแหล่งถาวรในบริเวณที่เหมาะแก่การเพาะปลูก นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกำเนิดแหล่งอารยธรรมตามลุ่มแม่น้ำที่สำคัญ ๆ เช่น อารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ ลุ่มน้ำไทกรีส – ยูเฟรตีส ลุ่มแม่น้ำคงคา ลุ่มน้ำฮวงโห – แยงซีเกียง เป็นต้น เครื่องมือหินถูกนำมาขัดและตกแต่งให้ประณีตยิ่งขึ้น

2.4 ยุคสำริด เริ่มเมื่อประมาณ 4,000 ถึง 1,200 ปีก่อนก่อนคริสตกาลมนุษย์นำโลหะมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ โลหะที่ใช้อย่างแพร่หลายในขณะนั้นคือ โลหะสำริด ซึ่งเกิดจากการนำเอาแร่ดีบุกมาผสมกับทองแดง ผลจากการนำโลหะสำริดมาใช้ดังกล่าวทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน ได้แก่ งานช่างฝีมือ (โลหะกรรม) การติดต่อค้าขายเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็น (แร่ดีบุกและทองแดง) กับชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกล มีการเดินทางติดต่อระหว่างชุมชน ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายได้ขยายเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีการนับเวลาตามปฏิทินเพื่อสะดวกในการเดินทางติดต่อกับชุมชนขึ้น และวางแผนการเพาะปลูก เป็นต้น

2.5 ยุคเหล็ก เริ่มเมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อน ค.ศ. เมื่อมีการค้นพบแร่เหล็กทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะเหล็กหาได้ง่าย แต่การนำแร่เหล็กมาใช้ต้องนำแร่เหล็กที่ปะปนอยู่ในเนื้อหินมาหลอมหรือถลุง ทำให้อาจเป็นอุปสรรคต่อการขนย้าย จึงสันนิษฐานว่ามีการใช้เครื่องทุ่นแรงประเภทล้อเลื่อน เช่น เกวียน และรถม้าเกิดขึ้นในยุคนี้ด้วย

3. วิวัฒนาการทางสังคม (Social evolution) ผลจากการมีวิวัฒนาการทั้งทางร่างกายและทางวัฒนธรรม ทำให้รูปแบบทางสังคมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเริ่มจากการใช้ชีวิตเร่ร่อนเพื่อแสวงหาอาหารตามธรรมชาติ มีการรวมกลุ่มแบบง่าย ๆ แล้วพัฒนาซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งวิวัฒนาการทางสังคมดังกล่าว ดร.อัลวิน ทอฟเลอร์ ได้จำแนกไว้เป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
3.1 สังคมคลื่นลูกที่ 1
3.2 สังคมคลื่นลูกที่ 2
3.3 สังคมคลื่นลูกที่ 3

3.1 สังคมคลื่นลูกที่ 1 (First wave) เป็นสังคมเพื่อยังชีพที่เน้นการผลิตและการแสวงหาอาหารเพื่อการยังชีพเป็นสำคัญ วิถีชีวิตของคนในสังคมเป็นแบบเรียบง่าย ความสัมพันธ์ของสมาชิกเป็นแบบปฐมภูมิ การผลิตมุ่งเพื่อการบริโภคเป็นสำคัญ หากเหลือจากการบริโภคก็อาจมีการแลกเปลี่ยนโดยใช้ระบบสิ่งของแลกสิ่งของ (Barter system) มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคลื่นลูกที่ 1 เป็นเวลายาวนานตั้งแต่ยุคของการใช้ชีวิตแบบเก็บของป่าและล่าสัตว์จนถึงสังคมเกษตรกรรมเพื่อยังชีพในชนบทปัจจุบันด้วย

3.2 สังคมคลื่นลูกที่ 2 (Second wave) เป็นสังคมการค้า และ อุตสาหกรรมโดยเฉพาะหลังจากที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ได้นำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน ทำให้การผลิตต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้นมนุษย์สามารถ ติดต่อค้าขายและเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง วิถีชีวิตของคนในสังคมจึงเปลี่ยนแปลง จากสังคมที่เรียบง่ายเป็นสังคมที่ซับซ้อน ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบทุติยภูมิ(เป็นทางการ) มีการใช้ระบบเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยเปลี่ยนจากเงินที่เป็นเงินหรือโลหะมีค่ามาเป็นเงินกระดาษเพื่อสะดวกในการพกพา

3.3 สังคมคลื่นลูกที่ 3 (Third wave) เป็นสังคมแห่งอนาคตหรือสังคมแห่งข่าวสารและเทคโนโลยีหรือสังคมแห่งโลกไร้พรมแดน อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว บทบาทและสถานภาพของคนจะถูกเก็บรวบรวมไว้ภายในระบบเทคโนโลยี สารสนเทศที่ทันสมัย สามารถสืบค้นได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ผลจากความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้ระบบการผลิต การบริโภคและการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ ล้วนต้องใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนจากเงินกระดาษเป็นบัตรเครดิตที่สามารถรวบรวมข้อมูลของเจ้าของบัตรไว้ภายใต้ระบบเดียวกันทั้งหมด ปัจจุบันสังคมคลื่นลูกที่ 3 เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตเรามากขึ้นทุกวัน และจะส่งผลชัดเจนมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้อย่างแน่นอน
การจำแนกเผ่าพันธุ์มนุษย์
โดยจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
1. เผ่าคอเคซอยด์ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถบเทือกเขาคอเคซัส มีลักษณะเด่น คือ ตาสีน้ำตาลถึงสีฟ้า สีผิวขาวอมชมพูจนถึงน้ำตาลเหลือง ผมหยักศก กะโหลกศีรษะเป็นวงรี ผมสีดำถึงสีทอง ตั้งถิ่นฐานอยู่ในทวีปยุโรป ต่อมาได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในหลายทวีปทั้งอเมริกาและออสเตรเลีย ได้ขับไล่ชนพื้นเมืองและครอบครองดินแดนหลายแห่ง ได้แก่ ขับไล่ชาวอะบอริจินในทวีปออสเตรเลีย เป็นต้น

2. เผ่ามองโกลอยด์ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในทวีปเอเชีย มีรูปร่างปานกลาง ผิวเหลือง มีขนตามใบหน้าและร่างกายเพียงเล็กน้อย ผมตรง กะโหลกศีรษะกลม จมูกแบน กระดูกโหนกแก้มนูนเด่น เปลือกตาอูม ตาสีเข้ม และมีก้อนเนื้อตรงมุมนัยน์ตาซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ และเป็นไปได้ว่ากลายมาจากเครื่องป้องกันลมหรือป้องกันไม่ให้ทรายเข้านัยน์ตา ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเผ่าอินเดียแดง ชนพื้นเมืองอินูอิต (Inuit) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่เดินทางข้ามช่องแคบเบริง จากทวีปเอเชียไปยังทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อประมาณ 40,000 ถึง 12,000 ปี ล่วงมาแล้ว ซึ่งยังมีแผ่นดินเชื่อมต่อระหว่างสองทวีป

3. เผ่านิกรอยด์ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตร้อนในแอฟริกา(ส่วนที่อยู่ใต้จากทะเลทรายสะฮารา) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหมู่เกาะใกล้แนวศูนย์สูตร มีรูปร่างเล็ก ผิวดำ ผมหยิก ริมฝีปากหนา ตาสีดำ จมูกแบน กะโหลกศีรษะกลม ปัจจุบันได้มีการผสมผสานกับกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่เดิมและกับแถบอื่น ๆ ที่อพยพไปทำให้รูปร่างลักษณะแตกต่างไปจนเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมบ้าง


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลผลิตทางด้านพืชและสัตว์
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ประกอบด้วย 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
1. ปัจจัยทางกายภาพ โลกของเราประกอบด้วยแก่นโลก เนื้อโลก และเปลือกโลก ถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิต และทรัพยากรทั้งหลาย ได้แก่ บรรยากาศภาค (อากาศ) อุทกภาค (น้ำ) ธรณีภาค (ดิน หิน แร่) อยู่บนส่วนที่เป็นเปลือกโลก ทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้ เป็นปัจจัยทางกายภาพ ที่เกื้อกูลให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้
1.1 บรรยากาศภาค (Atmosphere)
บรรยากาศ คือ ส่วนที่เป็นก๊าซชนิดต่าง ๆ ที่หุ้มห่อโลกไว้ เบาบางเมื่ออยู่สูงขึ้นไป และหนาแน่นกว่าที่บริเวณใกล้ผิวโลก มีองค์ประกอบหลักของอากาศโดยปริมาตรดังนี้
ไนโตรเจน ร้อยละ 78.08
ออกซิเจน ร้อยละ 20.95
อาร์กอน ร้อยละ 0.934
คาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 0.34
นอกจากนั้นยังมี ก๊าซเฉื่อย ได้แก่ นีออน ฮีเรียม คริปตอน และซีตอน ที่เหลือเป็นก๊าซที่มีปริมาณน้อยมาก ปริมาณความหนาแน่นของอากาศร้อยละ 99 อยู่สูงจากพื้นโลกไปถึงระยะ 30 กิโลเมตร

ชั้นบรรยากาศ แบ่งเป็นชั้นต่างๆ ได้ 4 ชั้น ดังนี้
1. โทรโพสเฟียร์ (Troposphere)
2. สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)
3. เมโซสเฟียร์ (Mesosphere)
4. เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) หรือ ไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere)

อิทธิพลของบรรยากาศภาคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
พลังงานจากดวงอาทิตย์ มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการของบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ด้านอุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. อุณหภูมิของอากาศเปลี่ยนแปลงตามระดับละติจูด
2. อุณหภูมิของอากาศเปลี่ยนแปลงตามระดับความสูง
3. อากาศเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล
4. อากาศเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของลม เช่น ลมประจำปี ลมประจำฤดู ลมประจำเวลา ลมประจำถิ่น และลมพายุ
5. อากาศเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของกระแสน้ำ
6. เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญา
6.1 เอลนิโญ หรือ เอลนิโน (El Nino)
6.2 ลานิญา (La Nina)
6.3 ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect)
แหล่งที่มาและความสำคัญของก๊าซเรือนกระจก
*6.3.1 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
*6.3.2 ก๊าซมีเทน (CH4)
*6.3.3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)
*6.3.4 ก๊าซที่มีสารประกอบพวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC)

1.2 อุทกภาค (Hydrosphere)
ความสำคัญของอุทกภาคในระบบสิ่งแวดล้อม สรุปได้ดังนี้
1. เป็นแหล่งอาหาร
2. เป็นตัวกำหนดลักษณะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ
3. เป็นตัวกำหนดชีวิต สัดส่วนลักษณะการกระจายตัวของรูปแบบการดำเนินชีวิตประชากร
4. เป็นแหล่งพลังงาน การคมนาคม นันทนาการ
5. เป็นตัวควบคุมและทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ วัฏจักรของน้ำ ที่มีการหมุนเวียนของน้ำในแหล่งน้ำและในบรรยาก
าศ

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 ธันวาคม, 2554 13:56

    มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นเนื้อหาดีจ๊ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม, 2556 12:38

    ขอบคุนนร๊คร้าาาาาาาา
    เนื้อหาใช้ได้เลยคร๊ดีมากๆ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับบบ เนื้อหาแน่นคับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ24 กุมภาพันธ์, 2557 21:11

    เนื้อหาเยี่ยมมากกกกกกกกกกกกก
    เลยค่ะ

    ตอบลบ

ผู้ติดตาม